Tuesday 27 January 2009

ชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่น (ตอนที่1)

ทุกเช้าพอเปิดทีวีญี่ปุ่นจะพบแต่ข่าวประท้วงเรื่องปลดคนออกไม่ว่าจะบริษัท หรือโรงแรม หรือร้านอาหาร ตำรวจต้องเข้ามาลากตัวออกไปจากหน้าประตู ทำให้นึกถึงการบรรยายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่อง ลักษณะพิเศษของบริษัทญี่ปุ่นแล้วอยากเขียนมาให้อ่านกันครับ
ผู้บรรยายเขาเริ่มที่ยุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 1945 เพราะเขาเกิดช่วงนั้น ก่อนหน้านั้นเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยตาครับ หลังสงครามญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามก็โดนกดขี่และเอาเปรียบอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วย ช่วงแรกจะรู้สึกอย่างนั้น แต่พอหลังปี 1950 คนญี่ปุ่นกลับเห็นว่าสงครามยังช่วยให้เขาฟี้นฟูเศรษฐกิจได้จนเติบโตอย่างมากที่สุดจนกระทั่งถึงปี 1990 เหตุที่กล่าวอย่างนั้นเพราะญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งให้เกาหลีที่ขณะนั้นมีสงครามเกาหลีอยู่ ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตนั้น บริษัทญี่ปุ่นก็ได้เรียนรู้ระบบสหภาพแรงงานจากทหารอเมริกา จนเกิดการก่อตั้งสหภาพแรงงานแบบภายในองค์กรหรือบริษัทขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าในช่วงก่อนปี 1990 นั้นน่าสนใจและน่าศึกษามากครับ
ระบบการจ้างงานของญี่ปุ่น
สมัยนั้นเป็นแบบระบบจ้างงานตลอดชีพ (Life time emploment system) ส่วนการประเมินบุคคลากรและการจัดการเป็นไปตามระบบอาวุโส โดยมีค่าจ้างตามอาวุโส (Seniority based system) ระะบบแบบนี้ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูพิษสงครามได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ลดปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงาน การจ้างงานแบบตลอดชีพนั้น เรียกได้ว่าเป็นการจ้างงานระยะยาวตั้งแต่เข้าทำงานจนกระทั่งเกษียณ (60ปี ) แม้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหากพนักงานไม่ทำผิดอะไรก็จะไม่มีการเลิกจ้าง ทำให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานมาก บริษัทได้เลือกคัดสรรค์ดีแล้ว พนักงานได้เลือกและต้องการทำงานกับบริษัทนี้ นี่เป็นเหตุผลที่คิดอย่างนั้นในขณะนั้น ส่วนเรื่องระบบอาวุโส เป็นเครื่องมือในการที่จะตัดสินความเร็วในการเลื่อนตำแหน่งงานและยังเป็นเหตุผลสำคัญให้พนักงานปรารถนาที่จะทำงานให้บริษัทเดิมเป็นเวลานานๆ รัฐบาลถึงขนาดประกาศให้ปรับเงินเดือนขึ้น 2 เท่าถ้าทำงานที่เดิมเกิน 10 ปี ประกอบกับสมัยโบราณนั้นญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อจากจีน ความเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย การเคารพผู้ใหญ่เชื่อฟัง ภักดีต่อผู้ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่า ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความรักในบริษัท ให้ความสำคัญกับบริษัทเหมือนครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามระบบนี้ใช้ไม่ได้กับผู้หญิงที่ทำงานสมัยนั้น เพราะหลังแต่งงานแล้วผู้หญิงเกือบทั้งหมดจะอยู่บ้านเฉยๆ
ระบบค่าจ้าง-ค่าจ้างจะแบ่งเป็นค่าจ้างตามมาตรฐานและค่าจ้างพิเศษ โดยการเพิ่มค่าจ้างจะกำหนดจากประวัติการศึกษา บนพื้นฐานค่าจ้างนี้จะทำการบริหารแรงงานทุกปีเพื่อกำหนดการเพิ่ม โดยมีการเจรจาค่าจ้างประจำฤดูใบไม้ผลิเพื่อเจรจาค่าจ้างและโบนัส หรือปัญหาแรงงานอื่นๆ
ระบบสหภาพแรงงานของญี่ปุ่น - ส่วนใหญ่เป็นสหภาพในบริษัท (intra-company unions) โดยพนังงานยกเว้นผู้บริหารระดับสูงทุกคนเป็นสมาชิกสหภาพ นอกจากนี้ยังมีการตั้งสหภาพในธุรกิจเดียวกันเป็นสหภาพร่วม เช่น ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีสหภาพร่วมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานโดยรวม
ด้วยระบบแบบนี้เองทำให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว คนญี่ปุ่นก็ขยันทำงานเพราะไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือถูกไล่ออก แต่ภายหลังปี 1990 เป็นต้นมา ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกและในญี่ปุ่นเองเริ่มตกต่ำเป็นเวลายาวนาน ผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นต่างๆ ต้องปรับโครงสร้างใหม่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จ ระบบเก่าๆ ได้พังลง และได้พยายามค้นหาระบบใหม่ จนได้ระบบการประเมินความสำเร็จแล้วจ่ายค่าจ้างตามความสามารถ (Performance Based) โดยตระหนักว่า "การสร้างบุคคลากรที่ดีและจัดวางบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง บริษัทก็จะเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น" นอกจากนี้ยังได้แบ่งประเภทของงานเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคเฉพาะหรือผู้เชี่ยวชาญพิเศษจึงเกิดอาชีพเฉพาะทางและรวมถึงบริษัทย่อยเฉพาะทางด้วย ยกตัวอย่างบริษัททำชิ้นส่วนเฉพาะให้โตโยต้า ถ้าลองแยกกว้างๆ ดูจะได้เป็นงานระดับบนของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ส่วนระดับล่างจะเป็นโฟร์แมน(บังคับบัญชา) และช่างเทคนิค
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษนั้นภายหลังได้เปลี่ยนเป็นเชี่ยวชาญหนึ่งสาขาแต่หลากความสามารถ (หนึ่งสาขาแต่มีเทคนิคความรู้หลายสาขา) เพื่อให้สอดคล้องกับการลดพนักงานลง จึงเกิดคำพูดขึ้นว่า "ใครก็ทำได้ ไม่ว่าตำแหน่งไหน"
ภาพโดยรวมดูแล้วเหมือนจะไปได้ดีนะครับ
(จะมาเขียนตอนจบต่อนะครับ)

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ